โครงการเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ประจำปี พ.ศ.2567

|

ประชาสัมพันธ์ เรื่อง สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม บัตรทองผู้พิการ
เรื่องที่คนพิการไม่รู้ ไม่ได้ ! “ สิทธิหลักประกันสุขภาพ ”
สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือที่รู้จักในชื่อ “บัตรทอง” โดยผู้พิการสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ
สิทธิประโยชน์บัตรทองผู้พิการ มีอะไรบ้าง
โดยหลัก ๆ แล้ว บัตรทองจะให้สิทธิรักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง ในการตรวจ วินิจฉัย ป้องกัน ควบคุมโรค ค่ายา/เวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ค่าอาหาร และค่าห้องพยาบาลด้วย ตลอดจนถึงให้สิทธิคุมกำเนิด ฝากครรภ์ คลอดบุตร บริการทันตกรรม และบริการแพทย์แผนไทย
นอกจากนี้ เฉพาะผู้พิการจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเข้ามา คือ บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ เช่น กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, การประเมิน/แก้ไขการพูด, จิตบำบัด, พฤติกรรมบำบัด, ฟื้นฟูการได้ยิน, ฟื้นฟูการเห็น, ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ, การพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งการอบรมญาติหรือผู้ดูแลในการดูแลคนพิการ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดประเภทความพิการที่จะได้รับสิทธิผู้พิการ ไว้ 6 ประเภท ดังนี้

  1. ความพิการทางการเห็น
  2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
  3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
  4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมหรือออทิสติก
  5. ความพิการทางสติปัญญา
  6. ความพิการทางการเรียนรู้

ใช้สิทธิบัตรทองผู้พิการ ต้องทำอย่างไร
ผู้ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่รัฐจัดให้ เช่น ประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลราชการ ลูกจ้างรัฐ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ที่มา : สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย Disabilities Thailand – DTH